2551-12-02

หลักปฏิบัติของนักกฎหมายเชิงคุณธรรมและจริยธรรม

1. ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่รอบรู้กฎหมาย กล่าวคือจะต้องรู้กฎหมายโดยละเอียดถี่ถ้วนทั้งในกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ หากรู้กฎหมายไม่ดี นอกจากจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแล้ว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ แต่ให้พึงระลึกไว้ว่า การเป็นนักกฎหมายที่ดีมิใช่เป็นผู้ที่สามารถจดจำกฎหมายได้มากที่สุด แต่นักกฎหมายที่ดีต้องบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีความยุติธรรม

2. เมื่อเรารู้กฎหมายและเข้าใจวิธีการใช้กฎหมายที่ดีดังกล่าวแล้ว หากนักกฎหมายไม่มีคุณธรรมหรือจริยธรรมแล้ว ก็อาจทำให้เรานำกฎหมายไปใช้ในทางที่ผิด อันจะทำให้เกิดความเสียหายและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องได้ ฉะนั้น นอกจากจะต้องรู้กฎหมายและวิธีการใช้อย่างดีแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายยังจะต้องประกอบวิชาชีพของตนในกรอบ คุณธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพของตนที่ดีด้วย

3. คุณธรรม คือความดีงามที่มีอยู่ในจิตใจ หรือลักษณะของคุณงามความดีที่มีอยู่ประจำตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ความประพฤติหรือการปฏิบัติดำเนินไปโดยชอบเป็นประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น

4. คำว่า จริยธรรม คือ แบบแผนของการกระทำที่ถูกต้องหรือเป็นเครื่องนำทางไปสู่หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกหลักศีลธรรม สิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม และหลักการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม เหมาะสม มีคุณธรรม และถูกต้องตามศีลธรรม

5. ยึดมั่นและปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น

6. ต้องรักษาเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพกฎหมาย ไม่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน

7. ดำรงชีวิตให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่าย

8. การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ใช้กฎหมายภายใต้สามัญสำนึกของวิญญูชน อย่างใช้เพียงแต่ความรู้สึกของตนเท่านั้น

9. มีความ“ ซื่อสัตย์สุจริต กล่าวคือ มีความประพฤติตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ ไม่คดโกงไม่หลอกลวง เป็นคุณธรรมสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของนักกฎหมายที่จักต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และถือความยุติธรรมเป็นประโยชน์ของส่วนรวมที่ต้องรับผิดชอบยิ่งกว่าประโยชน์ของตนเอง

10. มีจิตสำนึกที่ดีของนักกฎหมาย คำว่า จิตสำนึก มีความหมายชัดเจนในตัวเองว่า เป็นความรู้สำนึกของภาวะแห่งจิตที่มีต่อความคิดหรือการกระทำ ซึ่งจิตสำนึกอาจเกิดจากการปลูกฝังของบุคคล สภาพครอบครัวและสังคมหรือชุมชน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้น.

11. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก(สาธารณะประโยชน์)

12. ลอร์ด เดนนิ่ง (LORD DENNING) อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของอังกฤษที่มีความสามารถสูงยิ่ง และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนักกฎหมายทั่วโลกว่าเป็นนักกฎหมายแห่งศตวรรษที่ 20 ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “วิถีที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม (THE ROAD TO JUSTICE)”ว่า “การที่จะผดุงความยุติธรรมนั้น มีส่วนประกอบอยู่สองประการ คือ มีกฎหมายที่เป็นธรรมต่อสังคม และบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต้องปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรม หากไม่ปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ความยุติธรรมก็จะมีไม่ได้โดยสมบูรณ์”

13. ต้องมีความเป็นกลาง การที่ผู้พิพากษาจะพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อแก้ไขและยุติความขัดแย้งดังกล่าว จำต้องอาศัยความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากผู้พิพากษาขาดความเป็นกลางในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรม บ้านเมืองก็ไม่อาจเกิดความสงบสุขได้ และคงจะต้องเสื่อมถอยลงไป ประชาชนจะขาดที่พึ่ง สังคมจะเดือดร้อน นำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติในที่สุด

14. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม๒๕๑๕ ตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายและความยุติธรรมว่า“กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมอีกสถานหนึ่งโดยที่กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรที่จะถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ...”